สัปดาห์นี้เริ่มต้นด้วยเรื่องราวแบบเดิมแต่เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่ผันผวนของหุ้น พันธบัตรหรือค่าเงินที่ทุกคนกำลังสนใจ แต่เป็นความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน โดยน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลงมาทดสอบที่ระดับต่ำกว่า $20 เป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 17 ปี ดังนั้น เทรดเดอร์ยังคงต้องวัดใจว่าการปิดเมืองทั่วโลกและปัญหาของกลุ่ม OPEC+ จะยังคงถ่วงราคาน้ำมันต่อไปหรือไม่

คนจำนวนมากเชื่อว่าน้ำมันที่ผลิตเกินความต้องการจะแตะระดับ 25 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับที่ยากต่อการหาที่จัดเก็บน้ำมันเหล่านี้ ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นและไม่สามารถทำกำไรได้ แต่หลายๆ แห่งยังหวังว่าอีกฝ่ายจะยุติการผลิตก่อนตนเอง เกมการล้างผลาญครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาน้ำมันต่ำลงไปอีกและราคาน้ำมัน $10 ต่อบาร์เรลก็อาจจะเป็นไปได้ เมื่อราคาถึงระดับดังกล่าว ผู้ผลิตน้ำมันที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าจะไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจากยุติการผลิต อย่างไรก็ตาม ความต้องการในระยะยาวเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวไปที่จุดใดเมื่อสิ้นปี และส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะถดถอยมากเพียงใดรวมถึงลักษณะของการฟื้นตัวหลังจากนั้น

ในเวลานี้ ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ดิ่งลงต่อหุ้นและสินทรัพย์ประเภทอื่นยังไม่แรงมากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นมาตรวัดความเสี่ยงอีกต่อไป ดัชนีฟิวเจอร์สหุ้นสหรัฐฯ กำลังเทรดโดยปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้ WTI จะอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี

นักลงทุนน่าจะคาดการณ์ว่าในเวลาอีกหลายสัปดาห์หรืออีกไม่กี่เดือน เราอาจกลับสู่ภาวะปกติ แต่ความคิดเช่นนี้ก็เสี่ยงมาก เพราะตลอด 10 วันที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโคโรน่าไวรัสเพิ่มขึ้นในอัตรา 11.4% และหากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นในอัตรานี้ ก็จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อมากกว่าสองล้านคนในอีก 10 วันข้างหน้า ดังนั้น การปรับตัวบวกของสินทรัพย์เสี่ยงมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ยกเว้นอัตราผู้ติดเชื้อจะลดลงอย่างมาก

แม้ Fed และธนาคารกลางแห่งอื่นๆ กำลังดำเนินการต่างๆ รวมถึงออกมาตรการด้านนโยบายทางการเงินครั้งใหญ่เพื่อรับมือความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์ด้านสุขภาพและยอดผู้ติดเชื้อจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความรุนแรงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะนี้ เราคาดว่าจะได้เห็นว่าราคาสินทรัพย์ยังคงผันผวน จนกว่าเราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้น

ในสัปดาห์นี้ เราจะได้ทราบตัวเลข PMI ทั่วโลกที่ปรับใหม่ แม้การประกาศตัวเลขครั้งแรกของยุโรปจะออกมาแย่ แต่ขณะนี้ก็คาดว่าตัวเลขใหม่ที่รวบรวมได้จะแย่กว่าเดิมอีก เนื่องจากภาคการผลิตในยุโรปย่ำแย่ลงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนไวรัสระบาด ตัวเลขใหม่จึงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะสนใจก็คือการรอดูว่าข้อมูล ISM จะบอกเราอย่างไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นักลงทุนและเทรดเดอร์จะจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่จะออกในวันศุกร์อย่างใกล้ชิดหลังจากยอดการว่างงานของชาวอเมริกาที่ออกมาสามล้านรายเมื่อสัปดาห์ก่อน เมื่อพิจารณาว่าสหรัฐฯ เพิ่งนำนโยบายการปิดเมืองมาใช้ในปลายเดือนมีนาคม ตัวเลขในรายงานการจ้างงานจึงไม่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจึงจากการระบาดของไวรัส ดังนั้น เราจึงอาจต้องรอดูผลกระทบที่แท้จริงในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม เราจะต้องจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจทุกอย่างอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เข้าใจผลกระทบที่การระบาดมีต่อเศรษฐกิจโลกได้ดีขึ้น

 

 

 

ข้อความปฏิเสธความรับผิดชอบ: เนื้อหาในบทความนี้ประกอบด้วยความคิดเห็นส่วนตัวและไม่ควรตีความเป็นคำแนะนำส่วนตัว และ/หรือคำแนะนำด้านการลงทุนอื่น ๆ และ/หรือข้อเสนอ และ/หรือคำชักชวนสำหรับการทำธุรกรรมใด ๆ ในตราสารทางการเงิน และ/หรือการรับประกัน และ/หรือการคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคต ForexTime (FXTM) พันธมิตร ตัวแทน กรรมการ เจ้าหน้าที่หรือพนักงานของบริษัทจะไม่รับประกันความเที่ยงตรง ความถูกต้อง ความทันเวลาหรือความสมบูรณ์ของข้อมูลใด ๆ หรือข้อมูลที่พร้อมใช้และถือว่าไม่มีความรับผิดต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการลงทุนใด ๆ ที่อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน